ขั้นตอนที่ 1 เรียนรู้คำศัพท์ให้ได้มากที่สุด
หากต้องการเรียนรู้ไวยากรณ์แบบง่ายๆ อย่างแรกคุณจะต้องมีคลังคำศัพท์ในหัวซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานการพูดในทุกภาษา คุณสามารถเรียนรู้คำศัพท์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จากพจนานุกรมหรือแอปพลิเคชันพจนานุกรมในโทรศัพท์ของคุณ ฝึกใช้คำศัพท์ใหม่บ่อย ๆ ซึ่งจะทำให้คุณจำคำศัพท์เหล่านั้นได้ อย่าเพิ่งกังวลเรื่องไวยากรณ์จนกว่าคุณจะใช้และเข้าใจคำศัพท์ที่เรียนมาได้คล่องแคล่ว
ขั้นตอนที่ 2 พูดคุยกับผู้คนบ้าง
ภาษาทำให้คุณเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของสังคม การพยายามเรียนรู้ภาษาโดยไม่พูดกับคนอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องยากมาก พยายามหาโอกาสที่จะพูดคุยกับผู้คน แม้แต่การคุยทางโทรศัพท์ คุณจะเรียนรู้ไวยากรณ์โดยอัตโนมัติในขณะที่คุณฟังคำพูดของคู่สนทนา ถึงแม้ว่าคุณจะไม่รู้กฎไวยากรณ์ก็ตาม ยิ่งคุณได้ยินคำศัพท์ที่ใช้อย่างถูกต้องมากเท่าไหร่คุณก็จะยิ่งเรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 3 ดูและเรียนรู้
วิธีที่ดีที่สุดในการเรียนไวยากรณ์ คือ การดูหนังและรายการโทรทัศน์ในภาษาที่คุณสนใจ ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการเรียนภาษาอังกฤษ ซีรีส์ที่ดีรายการหนึ่ง คือ เรื่อง Big Bang Theory โดยเฉพาะตัวละครที่ชื่อ เชลดอน คูเปอร์ (Sheldon Cooper) ซึ่งมีคาแรคเตอร์ที่มักชอบแก้ไขข้อผิดพลาดไวยากรณ์ของคำพูดของตัวละครทุกตัวโดยไม่สนใจใคร อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ไวยากรณ์จากภาพยนตร์และรายการทีวีควรเรียนด้วยความระมัดระวังและไม่ยึดติดมากจนเกินไป เนื่องจากมักมีคำพูดหลายประโยคที่ไม่ได้พูดถูกต้องตามหลักไวยากรณ์
ขั้นตอนที่ 4 ขอให้คู่สนทนาช่วยแก้ไขประโยคที่พูดผิด
คนส่วนใหญ่มักไม่ชอบตำหนิหรือบอกเมื่อคุณใช้คำไม่ถูกต้อง เพราะเขาคิดว่าคุณอาจรู้สึกไม่พอใจ คุณอาจขอร้องให้คู่สนทนาช่วยแก้ไขประโยคเมื่อคุณพูดผิดเพื่อที่คุณจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดดังกล่าวได้ เมื่อคุณได้รับการแก้ไขหรือข้อแนะนำจากการพิสูจน์อักษร คุณควรตรวจสอบโดยเทียบกับเอกสารต้นฉบับของคุณเพื่อดูว่าคุณผิดพลาดจุดไหนบ้าง จดการแก้ไขทั้งหมดและฝึกฝนเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดนั้นอีก!
ขั้นตอนที่ 5 เข้าใจประเภทและหน้าที่ของคำ (part of speech)
เมื่อคุณรู้คำศัพท์หลายคำแล้ว คุณต้องรู้วิธีใช้คำเหล่านั้นในประโยค คุณวางคำทั้งหมดที่คุณรู้ไว้ในตำแหน่งตามประเภทและหน้าที่ของคำที่ถูกต้อง ดังนั้นคุณจำเป็นต้องรู้ประเภทและหน้าที่ของคำในการเรียนไวยากรณ์เพราะมันจะช่วยบอกวิธีการใช้คำในประโยค ประเภทและหน้าที่ของคำต่าง ๆ พร้อมคำอธิบาย มีดังนี้
• คำนาม (Noun) คือ ชื่อของบุคคล สถานที่ หรือ สิ่งของ คำนามบางอย่างมีชื่อเฉพาะ (proper noun) เช่น Julie, Cambridge University หรือ iPhone เป็นต้น ในขณะที่คำนามทั่วไป (common noun) คือคำที่สื่อถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น เด็กหญิง โรงเรียน หรือ สมาร์ทโฟน เป็นต้น
•คำสรรพนาม (Pronoun) ใช้อ้างถึงคำนามในประโยค ประเภทของสรรพนามแบ่งออกได้ดังนี้ คำ
สรรพนามแทนตัวบุคคล (personal pronoun) เช่น He, She, It
คำสรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของ (possessive pronoun) เช่น mine, hers, his
คำสรรพนามสะท้อนกลับ (reflexive pronoun) เช่น myself, herself, himself, itself
คำสรรพนามที่แสดงความสัมพันธ์ต่อกันและกัน (reciprocal pronoun) เช่น each other
คำสรรพนามที่ใช้เป็นตัวเชื่อมประโยค (relative pronoun) เช่น that, which, whom, whose
คำสรรพนามชี้เฉพาะ (demonstrative pronoun) เช่น this, that
คำสรรพนามชนิดหนึ่งที่ใช้ทำหน้าที่เป็นคำถาม (interrogative pronoun) เช่น who, what, when และ
คำสรรพนามที่ไม่ชี้เฉพาะ (indefinite pronoun) เช่น anyone, anything, nothing, somebody.
•คำคุณศัพท์ (adjective) เป็นคำที่ใช้ขยายคำนามหรือคำสรรพนามว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เช่น pretty girl, prestigious school, gray smartphone
•คำนำหน้านาม (article) เป็นคำคุณศัพท์พิเศษที่ใช้เพื่อบอกว่าคำนามนั้นชี้เฉพาะ (the) หรือไม่ชี้เฉพาะ (a / an)
•คำกริยา (verb) เป็นคำที่บอกการกระทำ เช่น jump, walk, speak, right, be
•คำวิเศษณ์ (adverb) เป็นคำที่ขยายคำกริยา คำคุณศัพท์ หรือคำวิเศษณ์เอง เช่น jump high, walk slowly, very pretty, highly prestigious school
• คำสันธาน (Conjunction) เป็นคำเชื่อมเพื่อรวมประโยคสองส่วนเข้าด้วยกัน (เช่น and, or, but)
•คำบุพบท (preposition) เป็นคำบอกตำแหน่งหรือทิศทางที่ใช้กับคำนามหรือคำสรรพนาม เช่น He went up the stairs หรือ Julie came from school.
•คำอุทาน (interjection) คำแสดงอารมณ์ เช่น Wow! Ouch!
หลังจากที่คุณใช้ความพยายามในการวิเคราะห์ว่าแต่ละคำเป็นคำประเภทใดและมีหน้าที่อะไรแล้ว คุณจะสามารถประกอบคำเหล่านั้นให้เป็นประโยคได้ อาจดูเหมือนจะว่าคุณต้องทำหลายอย่าง แต่ถ้าฝึกทำบ่อยๆ เป็นเวลานาน คุณจะสร้างประโยคได้เองโดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องวิเคราะห์ประเภทและหน้าที่ของคำอีกต่อไป
ขั้นตอนที่ 6 หารูปแบบเทียบเคียง
เมื่อคุณวิเคราะห์คำและหน้าที่ของคำในประโยค คุณจะสังเกตเห็นรูปแบบการวางตำแหน่งคำต่าง ๆ ในประโยค ให้คุณพยายามระบุประเภทและหน้าที่ของคำต่าง ๆ โดยไม่ต้องเปิดหนังสือไวยากรณ์ หลังจากนั้นให้ลองแต่งประโยคใหม่โดยใช้รูปประโยคเดิม คุณจะเห็นว่าความพยายามเรียนรู้ของคุณจะทำให้คุณเข้าใจรูปแบบประโยคได้ดีขึ้น สำหรับคนที่ชอบดูภาพยนต์เรื่อง Star Wars: รูปแบบประโยคที่ Yoda พูดอาจถูกต้องตามหลักไวยากรณ์สำหรับภาษาเยอรมัน แต่ผิดหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ให้คุณเลือกจำประโยคของ Obi Wan แทนจะดีกว่า
ขั้นตอนที่ 7 ฝึกการใช้คำกริยา
รูปแบบการผันคำกริยา เป็นหัวข้อที่ยากหัวข้อหนึ่งในการเรียนรู้เรื่องไวยากรณ์ การผันคำกริยาเป็นการเปลี่ยนคำกริยาเพื่อให้สามารถบอกข้อมูลต่าง ๆ ในประโยคได้ อาจเป็นเวลา บุคคล หมายเลข ลักษณะ เสียง อารมณ์ หรือเพศ หรืออาจบอกว่าประโยคกำลังกล่าวถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน อดีต หรืออนาคต
เมื่อพูดถึงการผันกิริยา คำกริยามีสองประเภท ได้แก่ คำกริยาผันปกติ (regular verb) และผันไม่ปกติ (irregular verb) คำกริยาผันปกติ (regular verb) ใช้งานได้ง่ายเพราะสามารถผันตามรูปแบบได้เลย ยกตัวอย่างเช่น คำว่า bake จัดอยู่ในกลุ่มคำกริยาผันปกติ หากอยู่ในรูปปัจจุบันเขียนได้เป็น bake แต่ถ้าจะผันให้อยู่ในรูปอดีต ก็เพียงแค่เดิม ‘ed’ ต่อท้ายคำ กลายเป็น baked เท่านั้นเอง หากจะผันให้สามารถใช้ในเหตุการณ์ในอนาคตก็แค่นำไปเขียนต่อท้ายคำว่า will หรือ shall ได้เลยโดยที่ไม่ต้องมีการเปลี่ยนรูป กลายเป็น will bake หรือ shall bake คำกริยาผันปกติจะมีการใช้งานตามรูปแบบที่กล่าวมานี้
แต่คุณอาจมีปัญหากับคำกิริยาที่ผันแบบไม่ปกติ (irregular verb) ซึ่งไม่มีกฎการผันตายตัว ดังนั้นคุณต้องจดจำรูปแบบการผันคำศัพท์แต่ละคำ ยกตัวอย่างเช่น อดีตกาลของคำว่า take คือ took ไม่ใช่ taked อย่างที่คุณคิด รูปในอดีตของคำว่า buy คือ bought ส่วนคำว่า run หากผันใหเอย่ในรูปอดีต จะกลายเป็น ran เป็นต้น
ถึงแม้จะยากอย่างไรก็ตาม หากคุณฝึกฝนไปเรื่อย ๆ คุณจะสามารถรู้ได้อย่างง่ายดายว่ารูปแบบคำกริยาที่คุณใช้ในประโยคถูกต้องหรือไม่ แม้แต่คำกริยาที่ผันไม่ปกติก็ตาม เพียงแค่คุณลองฝึกใช้คำกริยาและฝึกผันคำกริยาดังกล่าวโดยการแต่งประโยค หลังจากที่คุณเรียนรู้คำกริยาในรูปปัจจุบัน อดีต และอนาคต มากพอแล้ว คุณจึงค่อยเริ่มฝึกคำกริยาที่ใช้ในกาลอื่น ๆ เช่น present perfect, past perfect หรือ past continuous.
ขั้นตอนที่ 8 ใช้แอพลิเคชั่น
อาจดูเหมือนโกง แต่แอพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือสามารถช่วยให้คุณเรียนรู้ไวยากรณ์ได้ง่ายทุกระดับ ทั้งสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน หากคุณเลือกแอพลิเคชั่นที่เหมาะสม มันจะช่วยทำให้คุณเรียนรู้ไวยากรณ์ได้อย่างครบถ้วนและง่ายดาย ในแอพลิเคชั่นมักจะมีฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ให้คุณได้เลือกใช้งานโดยคุณสามารถเรียนหลักไวยากรณ์ด้วยวิธีการที่คุณชอบ
เกี่ยวกับผู้แต่ง
ด้วยประสบการณ์ห้าปีและปริญญาด้านภาษาศาสตร์ ทำให้ลอร่า บัคเลอร์ (Laura Buckler) รู้วิธีการเขียนและพูดอย่างมีประสิทธิภาพ การใส่ใจในรายละเอียดของเธอทำให้มีเธอมีความสามารถด้านการใช้คำในงานเขียนและความคิดของเธอมักจะเป็นแรงบันดาลใจและพลังในการขับเคลื่อนเสมอ
Comments